การถวายสังฆทาน และทำบุญบริจาคทรัพย์ เมื่อทำแล้วย่อมเกิดผลดี แต่อย่าหลงบุญ

การทำบุญไม่ได้มีแต่เพียงการถวายสังฆทานเท่านั้น เรายังสามารถทำบุญด้วยวิธีต่างๆอีกมากมาย ซึ่งเหตุผลของการทำบุญในความหมายของแต่ละท่านนั้นก็อาจจะแตกต่างกัน ดังนั้น โสฬส จึงขอนำเสนออีกแง่มุมหนึ่งของคำว่า “บุญ” และ “แนวคิดในการทำบุญ” โดยวันนี้เราได้มีโอกาสมาขอความคิดเห็นจาก “พี่หมวย” (พี่หมวยเป็นชาวพุทธธรรมดาท่านหนึ่ง) แต่สำหรับเราแล้วพี่หมวยมีบทบาทเป็นครูและเปรียบเสมือนสะพานบุญให้กับเรา นอกจากนี้ยังเป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งเกินกว่าคนทั่วไปจะทำได้ เพราะน้อยคนนักที่จะเต็มใจทำสิ่งต่างๆด้วยความรัก ไม่หวังสิ่งตอบแทน และทำแบบไม่กลัวเงินหมดอีกด้วย

บทความวันนี้ เราแค่อยากมาบอกท่านทั้งหลายว่า การทำบุญที่ดีไม่ว่าจะเป็นการถวายสังฆทาน หรือ ทำบุญในรูปแบบใดๆก็ตาม ก็ควรจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อผู้ให้คือเรา และประโยชน์ต่อผู้รับด้วยเช่นกัน ส่วนจะได้บุญมากหรือน้อย (ความเห็นส่วนตัวเของผม ควรใช้คำว่าสมบูรณ์มากกว่า) ก็ขึ้นกับความตั้งใจของผู้ให้เป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น การนำเงินไปบริจาคช่วยเด็กยากไร้เป็นทุนการศึกษา หรือ นำเงินไปบริจาคสร้างโรงพยาบาล อาจจะได้ประโยชน์มากกว่าการนำเงินไปสร้างถาวรวัตถุหรือ ศาสนสถานก็ได้ นอกจากนี้ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สัตว์ ที่ตกทุกข์ได้ยาก ก็นับเป็นบุญ นับเป็นกรรมดีได้เช่นกัน และเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เรามาฟังความคิดเห็นของพี่หมวยกันเลยนะครับ

*******************************

โสฬส: หลายๆคนเคยพูด เคยถามไว้ ว่าบาปบุญมีจริงหรือเปล่า และสามารถส่งผลในชีวิตด้านต่างๆได้อย่างไร
พี่หมวย: สำหรับพี่แล้ว…บาปบุญเหรอ บาปคือ ความไม่สบายใจ บุญคือความสบายใจในความคิดพี่นะอย่าเอาอะไรกับพี่ในความคิดพี่ บุญคือความสบายใจอะไรทำแล้วสบายใจมันเป็นบุญ แล้วก็บาปคือความไม่สบายใจเพราะว่า สมมุติวันนี้พี่โกหกเธอ…พี่จะไม่สบายใจถูกมั๊ย พี่รู้ว่าพี่โกหก พี่ก็ต้องกังวลว่าวันนั้นพี่พูดกับเธอว่ายังไง

โสฬส: อย่างคนปกติทั่วไป เขาทำบุญ เขาคาดหวังว่าเขาต้องได้รับผลตอบแทน อยู่ในความยึดติด เป็นมโนคติของเขา อย่างนี้จะได้รับบุญไหม พี่คิดเห็นว่าอย่างไร
พี่หมวย: อันนี้เราต้องแยก คือ ทำบุญยังไงก็ได้บุญอยู่แล้ว เพราะทำสิ่งดีออกไปยังไงก็ได้รับ เปรียบเหมือนให้ข้าวคนกินน่ะ เขาได้กินข้าวอิ่ม ยังไงเขาได้รับ มันก็ย่อมเป็นสิ่งดีอยู่แล้ว แต่ทีนี้ว่าหากเขาคาดหวัง เขาก็อยู่ในความอยากอยู่ในกิเลส เขาก็มีกิเลสนั้น บุญนั้นสำเร็จตอนที่ให้ถ้าให้ด้วยใจที่อยากให้ด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ถ้าอยากให้เพราะเหตุผลว่า ถ้าเราให้เขาแล้วเขาจะได้ดีกับเรา มันเป็นบุญไม่บริสุทธิ์ ตอบว่าได้ให้ออกไปแล้วก็คือการให้ ให้แล้วมันถูกก่อเกิดขึ้นแล้ว แต่อาจจะได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เหมือนมันเหมือนคนรักษาศีลและไม่ครบมันก็เป็นศีลพร้อย ศีลด่าง ศีลพร่อง

โสฬส: แล้วทีนี้เวลาทำบุญยังควรต้องกำหนดเป้าหมาย ต้องอธิษฐานจิต หรือ ควรทำบุญทำไปเลย ไม่ต้องมาคิดไม่ต้องมาขอ ไม่ต้องอธิษฐาน เราควรปฏิบัติแบบไหนดี
พี่หมวย: ถ้าเอาแบบพี่ ปัจจุบันพี่ไม่เคยอธิษฐานเลยจริงๆ แต่มันต้องค่อยๆปรับ สลัดตัวเองออกมา

โสฬส: แล้วอย่างนี้พิธีกรรมจำเป็นต้องมีอยู่ไหม
พี่หมวย: ถ้าเอาจริงๆ ในความคิดส่วนตัว พิธีกรรมนั้นไม่จำเป็นเลยแม้สักพิธีกรรมเดียว แต่ว่าบนโลกใบนี้ที่สังคมตั้งอยู่ เขาถูกปลูกฝัง ด้วยพิธีกรรมไปแล้ว ตัวอย่างง่ายๆเช่น การไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆเนี่ย ถ้าไม่มีคำกล่าวอะไร คนเขาก็จะถามทันทีเลยว่า ไม่มีคำกล่าวหรอ ไม่ให้อธิษฐานเลยหรอ แล้วมันจะได้ผลไหม มันจะสำเร็จไหม คนมันติดขอ ติดว่าทำแล้วมันต้องได้

โสฬส: เราควรมีวิธีทำบุญ หรือแนะนำให้คนอื่นๆเขาทำบุญอย่างไรดี
พี่หมวย: ถ้าเอาตามแนวทางของพี่ พี่ก็จะบอกให้ทำแบบไม่ต้องขออะไรเลย ทำเพราะอยากให้ อยากละ อยากปล่อยออกไป แค่นั้น

*******************************


นอกจากนี้ พี่หมวยยังได้ให้แนวคิดไว้ ดังเช่น

จงอย่าขอพร แต่จงเชื่อมั่นว่า เราคู่ควรจะได้พรนั้น สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำทุกคนที่จะมุ่งสู่ทางวกกลับเข้าหาความจริงแห่งจิตวิญญาณที่สมบูรณ์แบบภายในตัวเอง นั่นคือ “ความเชื่อมั่น”
“ความเชื่อมั่น คือพลังอำนาจ”ศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง” เหมือนที่ เรามักจะกล่าวกับตัวเองว่า ฉัน “เชื่อมั่น” ในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของจักรวาลในตัวเอง (ถึงเวลาแล้วจะเข้าใจเองครับ :) )

เราจะสัมผัสถึง อำนาจแห่งความเชื่อมั่นนี้ ผ่าน “ความรัก” ความรักนั้น คือพลังของเรา เป็นความจริงของเรา และอยู่กับตลอดเวลา เพียงแต่ เราต้อง “เลือก” ที่จะแสดงมันออกมา โดย มีคนอื่น เป็นผู้ทำหน้าที่เล่นบทบาทในการรับความรักจากเรา เมื่อความรักเรา ได้ส่งมอบให้คนอื่นในรูปแบบใดก็ตาม ความรักจะแสดงอำนาจตัวเองออกมา คือ ความเชื่อมั่น ส่วนผู้ที่ ไม่ได้ เลือก ความรัก ก็จะหลงไปเลือก “อัตตา” ซึ่งอัตตา มันก็จะแสดงด้านที่มันเป็นออกมา คือ ความไม่จริง ความไม่รู้ และ ความกลัว เมื่อคนเราอยู่ภายใต้อัตตาที่ตัวเองเป็นผู้เลือกแล้ว จะถูกความไม่รู้ ความกลัว เข้าครอบงำชีวิต

“อัตตา”จะกระตุ้นให้เราได้เลือก คิด พูด ทำ แบบหลงทางจากความจริงของตัวเอง นั่นคือ การไปขอพร อ้อนวอน ให้ผู้ที่มีอำนาจแห่งความเชื่อมั่นกว่า ช่วยเหลือ เช่นไป ขอพรต่อ”เทพเทวา ” แต่หาก เราเข้าถึงความจริงของเรา ว่า เรา คือจิตวิญญาณที่สมบูรณ์แบบ เราจะไปประกาศถึงความเชื่อมี่นในตัวเราเอง ผ่าน เทพเทวา แทน เพื่อให้ เทพเทวา ได้เป็นพยานรับรู้ถึง สิ่งที่เราได้แสดง”ความเชื่อมั่น”ต่อตัวเราเองออกมาแล้ว ความจริงของเรา ที่เราได้เลือก คิด พูด ทำ ต่อตัวเราเองผ่าน คนอื่น หรือผ่านเทพเทวา จะสะท้อนย้อนกลับมาเป็นประสบการณ์จริงของตัวเรา ในรูปแบบของ ความสุข ความเบิกบาน โดยมี เงินทอง ชื่อเสียง ยศศักดิ์ และความสำเร็จ เป็นตัวบ่งบอก

ขอให้เราๆตระหนักถึงความจริงนี้ ให้ชัดเจน แล้วไปประกาศความเชื่อมั่นของเราด้วยการมอบความรัก ให้แก่ผู้อื่น แทนที่จะไป “ขอพรด้วยความขาดแคลน” จากการชักนำของอัตตา

หมายเหตุ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว โปรดใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองตามแต่ความเชื่อของแต่ละบุคคล

สรุป หลายท่านอาจจะเคยชิน และอยู่ร่วมในกุศลโลบาย และพิธีกรรมต่างๆตามเทวสถาน หรือ ศาสนสถาน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมแบบทำมากได้มาก หรือต้องมีพิธีกรรมต่างๆนานา ทำบุญไปเพื่อหวังให้ชีวิตดี สมปรารถนา หมดเคราะห์กรรม จึงล้วนต้องใช้สติและปัญญาพิจารณาถึงประโยชน์กันด้วยนะครับ “ทำดีย่อมเกิดผลดีตั้งแต่ขณะจิตที่ทำ อันนั้นก็เกิดบุญแล้ว…ส่วนจะสมบูรณ์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังและความละเอียดของจิต รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น” ส่วนใครจะเลือกทำบุญแบบมีเงื่อนไข หรือสามารถทำบุญแบบไม่มีเงื่อนไขได้นั้นก็ขึ้นกับจริตและเวลาของแต่ละคนครับ

ด้วยความปรารถนาดีจาก ผลิตภัณ์ฑสำหรับถวายสังฆทาน ตราโสฬส