เครื่องไทยธรรม หรือ เครื่องไทยทาน คืออะไร
คำว่า ไทยทาน ไทยธรรม หมายถึง สิ่งของสำหรับทำทาน หรือของทำบุญ สำหรับถวายพระสงฆ์ ซึ่งทั้ง 2 คำนี้มักใช้แทนกันในที่ทั่วไป ซึ่งหมายถึงสิ่งเดียวกัน
แต่ส่วนมากจะเรียกชื่อตามลักษณะของการถวายเช่น เครื่องไทยทาน จะหมายถึงสิ่งของที่ใช้ถวายพระสงฆ์โดยทั่วๆไป และใช้คำว่า เครื่องไทยธรรม สำหรับสิ่งของที่ใช้ถวายพระสงฆ์ตอนธรรมเทศนา (พระเทศน์)
แต่ในภาษาบาลีจะมีใช้เพียงคำว่าเครื่องไทยธรรมเท่านั้น
ตามราชบัณฑิตยสภา ได้อธิบายว่า ไทยทาน (อ่านว่า ไท-ยะ-ทาน) ประกอบด้วยคำว่า เทยฺย (อ่านว่า เทย์-ยะ) แปลว่า ควรให้. กับ ทาน (อ่านว่า ทา-นะ) แปลว่า การให้ ของที่ให้. ไทยทาน จึงหมายถึง ของที่ควรให้
คำว่า ไทยทาน มีความหมายเหมือนกับคำว่า ไทยธรรม ซึ่งประกอบด้วยคำว่า เทยฺย กับคำว่า ธรฺม (อ่านว่า ทัร-มะ) ซึ่งมีความหมายหนึ่งว่า สิ่งที่เหมาะสม ดังนั้น ไทยธรรม จึงหมายถึง สิ่งที่เหมาะสมและสมควรให้เช่นกัน
ในภาษาไทยจึงมีการซ้อนเป็นคำว่า ไทยทานไทยธรรม เช่น เครื่องจตุปัจจัยไทยทานไทยธรรม เครื่องปัจจัยไทยทานไทยธรรม เครื่องไทยทานไทยธรรม หรือเครื่องไทยธรรม ก็ได้
เครื่องไทยธรรม ประกอบด้วย อะไรบ้าง
เครื่องไทยธรรม ก็คือวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่สมควรถวายแก่พระสงฆ์ ได้แก่ ปัจจัย 4 และสิ่งของที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ได้แก่
1. เครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ ผ้าไตรจีวร ซึ่งประกอบไปด้วย สังฆาฏิ(ผ้าผืนใหญ่เหมือนจีวร ที่นำมาใช้พาดบ่า) ผ้าจีวร(ผ้าที่ใช้สำหรับห่มคลุม) และผ้าสบง(ผ้าที่ใช้สำหรับนุ่งในส่วนล่าง) นอกจากนี้ยังมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ไตรครอง (ไตรเต็ม) และ ไตรอาศัย (ไตรแบ่ง)
ไตรครอง หรือ ไตรเต็ม ประกอบด้วย จีวร, สบง, อังสะ (เสื้อที่ลักษณะคล้ายเสื้อกล้ามไว้ใส่ด้านใน), สังฆาฏิ, ผ้ารัดอก, รัดประคต (ไว้ใช้รัดสบง ลักษณะการใช้งานเหมือนเข็มขัดของพระสงฆ์), ผ้าประเคน (เอาไว้ใช้รับสิ่งของจากอุบาสิกา)
ไตรอาศัย คือ เครื่องนุ่งห่มที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วย จีวร, สบง, อังสะ
หมายเหตุ : การเลือกซื้อผ้าไตรจีวร ควรเลือกสีให้เหมาะกับวัด เหมาะกับนิกาย และรูปร่างความสูงของพระสงฆ์ที่่จะนำไปถวาย โดยคำนึงถึงความสูง/ความยาวของผ้า ดังนี้
พระภิกษุที่สูง 160-170 ซม. ควรใช้จีวรขนาด 1.9 ม.
พระภิกษุที่สูง 170-180 ซม. ควรใช้จีวรขนาด 2.0 ม.
พระภิกษุที่สูง 180 ซม. ขึ้นไปหรือมีรูปร่างสูงใหญ่ ควรใช้จีวรขนาด 2.1 ม.
2. อาหารต่างๆ ทั้งอาหารสด และอาหารแห้ง รวมถึงเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำปานะ ชาสมุนไพร ยกเว้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ยาดอง)
หมายเหตุ : การถวายอาหารประเภทของขบฉันควรถวาย(ประเคน)ก่อนเที่ยงเท่านั้นตามพระวินัย หากนำไปถวายหลังเที่ยงควรแจ้งพระภิกษุสงฆ์ไว้ แต่ไม่ต้องให้ท่านรับประเคน
3. สิ่งของต่างๆที่จำเป็นเกี่ยวกับการอยู่อาศัย ครอบคลุมทั้งสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจำวัด (หมอน มุ้ง ผ้าห่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้กวาด ไม้ถูพื้น น้ำยาซักผ้า และกลุ่มเครื่องสำอางเพื่อดูแลสุขอนามัย (ทำความสะอาดผิวกาย หนังศีรษะ) เช่น สบู่สมุนไพร แชมพูสมุนไพร และยาสีฟันสมุนไพร
4. ยารักษาโรค และผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีสิ่งของที่ห้ามไม่ให้พระภิกษุสงฆ์จับต้อง (วัตถุอนามาส) ไต้แก่
- ผู้หญิง รวมทั้งเครื่องแต่งกายหญิง รูปภาพหญิง หรือรูปปั้นของผู้หญิงทุกชนิด
- รัตนะ 10 ประการ คือ ทอง เงิน แก้วมุกดา แก้วมณี แก้วประพาฬ ทับทิม บุษราคัม สังข์ (ที่เลี่ยมทอง) ศิลา เช่น หยก และ โมรา
- เครื่องศาสตราวุธทุกชนิด อันเป็นเครื่องทำลายชีวิต
- เครื่องดักสัตว์บกและสัตว์นั้าทุกชนิด
- เครื่องประโคมดนตรีทุกอย่าง
- ข้าวเปลือกและผลไม้อันเกิดอยู่กับที่
เครื่องไทยธรรม เกี่ยวกับ สังฆทานอย่างไร
“เครื่องไทยธรรม” (เครื่องไทยทาน) หมายถึง สิ่งของที่ควรนำไปถวายพระสงฆ์ ขณะที่คำว่า “สังฆทาน” หมายถึงลักษณะของการถวายสิ่งของแก่พระสงฆ์ (การถวายเครื่องไทยธรรมไทยทานแก่คณะสงฆ์ โดยไม่ระบุผู้รับ)
ทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน ดีอย่างไร
ทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน ดีอย่างไร
คำกล่าวถวายสังฆทาน และขั้นตอนการถวายสังฆทาน
ก่อนอื่นหากมีหิ้งพระ หรือ โต๊ะหมู่บูชา ให้เริ่มด้วยการจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย แต่หากไม่มีก็ไม่เป็นไร
และ ให้เตรียมน้ำและภาชนะรองรับสำหรับการกรวดน้ำไว้ด้วย
ลำดับที่ 1 : กล่าวคำอาราธนาศีล 5
มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะสะหะปัญจะ สีลานิยาจามะ
ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะสะหะปัญจะ สีลานิยาจามะ
ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะณัตถายะ ติสะระเณนะสะหะปัญจะ สีลานิยาจามะ
ลำดับที่ 2 : กล่าวคำนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุธธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุธธัสสะ
ลำดับที่ 3 : กล่าวไตรสรณคมน์
พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ทุติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ตะติยัมปิ พุทธัง สะระนัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระนัง คัจฉามิ ตะติยัมปิ สังฆัง สะระนัง คัจฉามิ
ลำดับที่ 4 : สมาทานศีล 5
ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ลำดับที่ 5 : กล่าวคำนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ลำดับที่ 6 : กล่าวคำถวายสังฆทาน
อิมานิ มะยังภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายซึ่ง..(สิ่งที่นำมาถวาย เช่น ภัตตาหาร)..
พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ขอพระภิกษุสงฆ์ จงรับ..(สิ่งที่นำมาถวาย เช่น ภัตตาหาร)..
พร้อมทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายตลอดกาลนานเทอญ
ลำดับที่ 7 : ประเคนของที่นำมาให้พระสงฆ์
ลำดับที่ 8 : การกรวดน้ำ
หลังจากประเคนถวายพระภิกษุสงฆ์แล้ว เมื่อพระสงฆ์ผู้นำสวดอนุโมทนาด้วยบท ”ยะถา วาริวหา…”
ก็ให้ผู้ถวายสังฆทานเริ่มกรวดน้ำ จนถึงบทที่พระสงฆ์สวดถึง “มณีโชติรโส ยะถา” ก็ให้หยุดการกรวดน้ำ จากนั้นจึงพนมมือรับพรพระต่อไปจนจบ
ทำไมต้องจัดของถวายสังฆทานเอง
หลายท่านคงอาจจะมีคำถามว่าเดี๋ยวนี้เกือบทุกวัดใหญ่ๆที่มีผู้คนนิยมแวะเวียนกันไปทำบุญก็มี “ถังเหลือง” เตรียมไว้ให้พร้อมบริการอยู่แล้ว แล้วจะต้องเสียเวลาจัดเตรียมเองไปทำไม เอาสะดวกไม่ดีกว่าเหรอ หรือ เราไปซื้อชุดสังฆทานแบบสำเร็จรูปตามร้านสังฆภัณฑ์ หรือในห้างไปทำบุญก็ได้ ?
….. การทำบุญตามสะดวกตามกำลังนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีแน่นอนครับ แต่หากเราต้องการให้เกิดประโยชน์ ได้รับอานิสงส์สูงสุด (บางท่านอาจใช้คำว่าได้บุญมาก) เราก็ควรพิจารณาเลือกถวายเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์ที่ท่านสามารถนำไปใช้ได้จริงมันก็คงจะดีกว่า เพราะว่าของในถังเหลืองนั้นมักจะเป็นของทั่วๆไปซึ่งพระสงฆ์อาจจะไม่ได้มีโอกาสนำไปใช้จริงๆเลยก็ได้
เราควรพิจารณาเลือกสิ่งของไปถวายพระสงฆ์เอง โดยคำนึงว่าพระสงฆ์ ณ วัดแห่งนั้นจะสามารถนำไปใช้ได้จริง และคำนึงถึงประโยชน์ที่พระสงฆ์จะได้รับ
ไอเดียจัดชุดสังฆทานทำเอง มีอะไรบ้าง
การจัดเครื่องไทยธรรมไปถวายพระสงฆ์อย่างแรกเลยควรนึกถึงสถานที่นั้นๆก่อนว่าเป็นอย่างไร เช่น อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือ อยู่ในพื้นที่ใกล้ความเจริญ เพราะเราจะได้เลือกเครื่องอุปโภคบริโภคได้อย่างเหมาะสมกับกิจวัตรของพระสงฆ์ ณ วัด, สำนักสงฆ์, สถานที่ปฎิบัติธรรม นั้นๆ ดังนั้น ในการจัดชุดสังฆทานเองเพื่อถวายพระสงฆ์ มีหลักการอยู่แค่ 2 อย่าง นั่นคือ พระสงฆ์สามารถนำเครื่องไทยธรรม หรือปัจจัยที่เราจะนำไปถวายไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่ และ กำลังทรัยพ์ของเรานั่นเอง
วิธีจัดสังฆทานด้วยตัวเอง
การจัดเครื่องไทยธรรม เพื่อถวายสังฆทานนั้น สามารถเลือกได้ทั้งเครื่องอุปโภค หรือเครื่องบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาสามัญประจำบ้าน หรือ ของใช้เช่น สบู่สมุนไพร แชมพูสมุนไพร หรือพวกเครื่องใช้ จากนั้นเราจึงจัดเตรียมหีบห่อบรรจุ ซึ่งจะใส่ถุงธรรมดา หรือ ถุงถวายสังฆทานที่มีจำหน่ายตามร้านสังฆภัณฑ์ทั่วไปก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการจัดใส่ภาชนะอื่นๆเช่น ชะลอมสาน ที่ทำมาจากหวาย (สังฆทานปิ่นโต) หรือ กล่องพลาสติก ตามแต่ความชอบ ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากและเสียเวลาอะไรมากมายเลยครับ